ชายแดนภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน กำลังเผชิญความท้าทายซับซ้อนจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา การอพยพข้ามแดนของประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ และบุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสาธารณสุข การศึกษา ความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่

เพื่อตอบโจทย์วิกฤตเชิงโครงสร้างเหล่านี้ กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และภาคีจากภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การประชุมปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านชายแดนภาคเหนือ (Episode 03)” เมื่อวันที่ 9–11 มิถุนายน 2568 ณ จังหวัดนนทบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนอย่างมีส่วนร่วม มุ่งสู่ความมั่นคงแบบองค์รวมที่ยั่งยืน

ผลลัพธ์ของการปรึกษาหารือตลอดระยะเวลา 3 วัน ดังกล่าว คือ ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิบัติการที่ตอบโจทย์พื้นที่ชายแดน ณ ปัจจุบัน ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ศูนย์สุขภาพชายแดน (Border Health Center) – จัดระบบบริการสุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบางข้ามแดนในพื้นที่ buffer zone
2. ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ (Migrant Learning Centres: MLCs) – จัดการเรียนรู้ทางเลือกที่เชื่อมโยงการศึกษาไทย–เมียนมา
3. การพัฒนาพื้นที่เสี่ยง (Risk Area Development: RAD) – สำรวจและประเมินข้อมูลภัยความมั่นคง เพื่อวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชน

โดยกิจกรรมการดังกล่าวส่งผลให้เกิดโครงการ “เชื่อมใจชายแดน” ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย โครงการย่อย 4 โครงการ ดังนี้

  1. โครงการที่ 1: ศูนย์สุขภาพชายแดน (Border Health Center: BHC)

  2. โครงการที่ 2: ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ (Migrant Learning Centres: MLCs)

  3. โครงการที่ 3: การพัฒนาพื้นที่เสี่ยง (Risk Area Development: RAD)

  4. โครงการที่ 4: การระบุตัวตนของประชาชนพลัดถิ่นในพื้นที่ชายแดน

สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละโครงการได้ในรายงานฉบับเต็ม: Click