เมื่อผู้ใช้พลังงานกลายมาเป็นนักออกแบบนโยบายพลังงาน : บทเรียนจากการวางแผนระดับภาค

ประชาชนสามารถร่วมวางแผนพลังงานระดับภูมิภาคได้อย่างไร?

ในการร่างและออกแบบนโยบายพลังงานมักถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องทางเทคนิคระดับสูงที่มีแต่ผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินการได้  ดังนั้นประชาชนซึ่งก็เป็นผู้ใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ จึงมักไม่ค่อยได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนพลังงาน อันเป็นผลให้เกิดการไม่ยอมรับ หรือแม้กระทั่งการประท้วงต่อต้านโครงการพัฒนาด้านพลังงานของภาครัฐและเอกชน  ช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมทำงานในฐานะคณะที่ปรึกษาของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงพลังงานในการออกแบบและจัดทำกระบวนการร่างแผนพลังงานระดับภูมิภาคขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ  จึงเป็นโอกาสสำคัญที่สถาบันนโยบายสาธารณะจะได้นำหลักการ DNA สำคัญของสถาบัน ได้แก่ Inclusive (แนวคิดการมีส่วนร่วม) Innovative (แนวคิดที่เป็นนวัตกรรม) และ Progressive (แนวคิดที่มุ่งพัฒนาไปข้างหน้า) มาใช้เป็นแนวคิดสำคัญในการออกแบบและวางแผนนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน

โครงการดังกล่าวจัดทำโดย อ.ดร.วรธิดา ไชยปะ อาจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะ พร้อมทีมคณาจารย์และนักวิจัย โดยได้มีการทบทวนเอกสารแผนพลังงานระดับภาคของต่างประเทศ สัมภาษณ์หน่วยงานที่รับผิดชอบในการร่างแผนพลังงานภาค ตลอดจนวิเคราะห์แผนระดับชาติของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน จนตกผลึกออกเป็นภาพรวมการดำเนินงานของโครงการ คือ แผนพลังงานในระดับภูมิภาคที่จะร่างขึ้นใหม่นั้นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทระดับชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สะท้อนความต้องการด้านพลังงานของคนในพื้นที่  และอิงอยู่บนต้นทุนสำคัญอันเป็นบริบทเฉพาะของภาคนั้น เช่น ทรัพยากรด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

ตั้งใจที่จะออกแบบแผนพลังงานระดับภูมิภาคที่เพิ่มความมีส่วนร่วมของประชาชนมากยิ่งขึ้น มุ่งมั่นที่จะแสดงให้เห็นว่าเรื่องของนโยบายพลังงานไม่ใช่เรื่องเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญหรือของภาครัฐเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมกำหนดทิศทาง เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดนโยบายพลังงานที่รวมทุกคนเข้าด้วยกันมากขึ้น เนื่องจากว่าผู้ใช้พลังงานทุกคน ก็คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานทั้งสิ้น  อ.ดร.วรธิดา ไชยปะ พร้อมทีมนักวิจัยจากสถาบันนโยบายสาธารณะ รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา โดยมีแนวคิดสำคัญ คือ

หัวใจสำคัญของโครงการ คือ การนำDNA 3 ประการของสถาบันนโยบายสาธารณะมาเป็นแนวคิดในการออกแบบกระบวนการ ดังมีรายละเอียด ดังนี้

  1. Inclusiveness  ผนวกรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านพลังงานเข้าในกระบวนการร่างและออกแบบแผนพลังงานภาค โดยอ้างอิงวิธีการคัดเลือกและระบุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลัก Democracy Cube ที่เสนอโดย Archon Fung (2006)
  2. Innovative พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการจัดกิจกรรมหารือกลุ่มย่อย (Focus group discussion) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็น ความต้องการได้อย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ เครื่องมือเหล่านี้ประกอบไปด้วย 1. Design thinking techniques เป็นกิจกรรมหาประเด็นปัญหาร่วมของภาค และร่วมออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหา 2. Futures thinking techniques คือ การจินตนาการภาพอนาคตที่ต้องการของพลังงานภาค พร้อมด้วย Driving force cards ที่เสนอปัจจัย 50 ข้อที่ส่งผลต่อการพัฒนาพลังงานเพื่อให้ไอเดียในการวาดภาพอนาคต 3. Back casting techniques การคิดแบบถอยหลัง เพื่อออกแบบโครงการพัฒนาพลังงานภาคตามระยะ1,3 และ 5 ปี  และ 4. Deliberation and consensus building เพื่อวิเคราะห์ประเมินผลกระทบของโครงการ ปัจจัยฉุดรั้งและหนุนเสิรมความสำเร็จของโครงการนั้น
  3. Progressive กระบวนการที่ใช้ในการดำเนินโครงการที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคิดออกแบบแผนพลังงานภาคและเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการหารือกลุ่มย่อยนั้นล้วนสะท้อนแนวคิด Progressive โดยถือเป็นการทดลองการออกแบบนโยบายสาธารณะแบบใหม่ ที่ไม่เหมือนกับขนบจารีตเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นการEmpower ประชาชนผู้ใช้พลังงานจากภาคส่วนต่างๆ ในการเป็นผู้ออกแบบนโยบายสาธารณะแทนที่การเป็นเพียงผู้รับผลและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ

รูปภาพที่ 1 ภาพแสดงกระบวนการทั้งหมดของการร่างแผนพลังงานระดับภูมิภาค โดยเปรียบเทียบกับเครื่องบินที่บินผ่านอุโมงค์ลมเพื่อรวบรวมเอาความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่เข้าไว้กับเป้าหมายทางด้านพลังงานระดับชาติ จนเกิดเป็นแผนพลังงานภาคที่มีความเฉพาะของตัวเอง เปรียบดังเครื่องบินสีต่างๆ 6 สี

 

ผลการจัดทำโครงการร่างแผนพลังงานระดับภาค คณะที่ปรึกษานำเสนอให้กับกระทรวงพลังงานในรูปแบบรายงานเพื่อใช้ประกอบในการร่างแผนพลังงานระดับภาค  ตลอดจนนำเนื้อหาบางส่วนของโครงการไปวิเคราะห์เพิ่มเติมตามหลักวิชาการในเรื่อง Energy Democracy และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ Journal of Energy Research and Social Science ในหัวข้อ “From end-users to policy designers: breaking open the black box of energy technocracy in Thailand” (อยู่ในระหว่างกระบวนการตีพิมพ์) เขียนโดย อ.ดร. วรธิดา ไชยปะ ร่วมกับ Dr. Kris Harley  Department of Asian and Policy Studies, The Education University of Hong Kong และ Dr. Daniel del Barrio Alvarez Department of Civil Engineering, The University of Tokyo