Although Covid-19 has impacted various aspects of our lives, but there is one side that is often overlooked. That is our “mental health”. From the ongoing regulations of “lockdowns” and social distancing, this occurrence can lead to the feeling of “social exclusion” and loneliness. Many countries have implemented policies to cater to the issue of loneliness and mental issues of their people in the middle of this pandemic. For examples, England has appointed a “Minister of Loneliness” to encourage social interaction in a new way. An Isolation/Loneliness Countermeasures Office has also been initiated in Japan to fight against the rising rate of suicides, while Singapore has created its new online mental health platform for Singaporeans to become more aware of their health mentally.

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการและข้อกำหนดจำนวนมากเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพประชาชน ทว่า ในขณะเดียวกัน มาตรการเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนซึ่งรวมไปถึงผลต่อด้านจิตใจและอารมณ์ Policy X-Ray ครั้งนี้จะพาไปสำรวจความพยายามของรัฐบาลในบางประเทศที่ได้ออกนโยบายและแนวทางในการจัดการผลกระทบด้านสุขภาวะทางจิตของผู้คน ที่เกิดจากการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และ การแยกกักตัว (isolation) ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

อังกฤษ

กระทรวงแห่งความเหงา (Ministry of Loneliness) ซึ่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ถือเป็นตัวแสดงหลักที่พยายามในการจัดการและรับมือกับเรื่องสุขภาวะทางจิต โดยเฉพาะความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเหงาของผู้คนในช่วง COVID-19 ทั้งนี้ หลังจากช่วงของการแพร่ระบาดอย่างหนัก รัฐบาลได้ผ่อนปรนแนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เริ่มอนุญาตให้ประชาชนออกนอกบ้านได้มากขึ้น เช่น เพื่อมาออกกำลังกายได้วันละครั้ง กระทรวงแห่งความเหงาก็ได้ออกนโยบายและดำเนินกิจกรรมควบคู่กัน อาทิ โครงการความร่วมมือกับสำนังกงานไปรษณีย์ และ The Royal Mail ที่สนับสนุนให้ผู้คนเขียนจดหมายถึงเพื่อน ครอบครัวและคนรู้จักเพื่อให้รู้สึกว่าไม่มีใครถูกลืม แล้วยังได้จัดสรรงบประมาณ 7.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 304.5 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมป้องกัน รับมือ และจัดการกับการแพร่ระบาดของความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเหงาโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ การบริการโทรคุยเป็นเพื่อนแก่ผู้สูงอายุและคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (Telephone Befriending) ซึ่งผู้โทรจะเป็นอาสาสมัครในกลุ่ม Poole Housing Partnership และการบริการส่งอาหารโฮมเมดช่วงคริสต์มาสแก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง โดยกลุ่ม Your Homes Newcastle ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มหลายโครงการที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรและเครือข่ายที่ดำเนินการด้านสุขภาพจิตของประชาชน อาทิ

•The English Football League Trust เพื่อสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่ออาการโดดเดี่ยวผ่านบริการต่างๆ อาทิ การโทรคุยเป็นเพื่อน และกลุ่มพูดคุยออนไลน์
•Alzheimer’s Society เพื่อสนับสนุนผู้ที่มีอาการอัลไซเมอร์ โดยให้การดูแลด้านรัฐสวัสดิการและการโทรคุยเป็นเพื่อนเพื่อตรวจสอบความเป็นอยู่ รวมถึงการจัดห้องเรียนผ่านเสียงเพื่อช่วยบริหารสมอง
•The Soldiers, Sailors, Airmen and Families Association – Forces Help (SSAFA) เพื่อสนับสนุนทหารผ่านศึกและครอบครัวของพวกเขาที่กำลังเผชิญกับความโดดเดี่ยวผ่านบริการเยี่ยมเยียนแบบเว้นระยะห่างทางสังคม การให้บริการทางโทรศัพท์สำหรับขอความช่วยเหลือ รวมถึงกิจกรรมสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อความโดดเดี่ยวมาก
•Sense เพื่อสนับสนุนเยาวชน ครอบครัว และผู้พิการซ้ำซ้อนผ่านบริการที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถสร้างเครือข่ายทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการบัดดี้และการจัดกิจกรรมออนไลน์สำหรับเยาวชน
•The British Red Cross เพื่อสนับสนุนเยาวชน ชุมชน Black, Asian and Minority Ethnic (BAME) และผู้อพยพ ในการสร้างเครือข่ายภายในชุมชน โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ใน Durham, Barking and Dagenham, Stockport and Plymouth จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับประโยชน์
•The Royal National Institute of Blind People เพื่อสนับสนุนผู้บกพร่องทางสายตาและการมองเห็นในการปรับตัวและส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบออนไลน์
•Home-Start UK เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้เริ่มสร้างครอบครัวใหม่ โดยเฉพาะแม่มือใหม่ที่มีความเสี่ยงต่ออาการโดดเดี่ยวผ่านการโทรคุยและสร้างเครือข่ายผ่านโลกออนไลน์
•Mind เพื่อสนับสนุนกลุ่มท้องถิ่นในการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่ผู้สูงอายุ พ่อแม่มือใหม่ และผู้บกพร่องทางร่างกาย

ญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นสุขภาวะทางจิตของผู้คน โดยเฉพาะความโดดเดี่ยวและความเหงาที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ จากที่มีรายงานถึงอัตราการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และถือว่าเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งทำให้รัฐตระหนักถึงความเชื่อมโยงกับการที่ต้องแยกกักตัว และการเว้นระยะห่างทางสังคม และสถานการณ์ของช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในภาพรวม ซึ่งล้วนส่งผลต่อการใช้ชีวิต สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การไม่สามารถปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงกายภาพได้ การที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นชินกับการใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ ความกังวลของผู้คนที่จะตกงานจากการที่หลายองค์กรต้องประสบกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ ล้วนทับซ้อนและนำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มขึ้น

ประเด็นใหญ่ทางสังคมของญี่ปุ่นอีกประการ คือ การพบอัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงจำนวนมากในญี่ปุ่นไม่ได้แต่งงาน อยู่คนเดียว และไม่มีงานประจำ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ขึ้น ผู้หญิงกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงอย่างมากจากการที่ต้องเผชิญสถานการณ์เหล่านี้เพียงลำพัง

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงแห่งความเหงา (Ministry of Loneliness) ขึ้นเป็นครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทว่า ในขณะที่กระทรวงแห่งความเหงาของอังกฤษ เน้นการดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษนั้น ญี่ปุ่นเน้นพันธกิจในการบรรเทาความโดดเดี่ยวและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้คนในทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัย นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้จัดตั้ง Isolation/Loneliness Countermeasures Office เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของเยาวชนและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์รัฐมนตรีกระทรวงแห่งความเหงาได้ วางแผนที่จะจัดประชุมฉุกเฉินร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการรับมือและจัดการกับสุขภาวะทางจิตของผู้คนอย่างครอบคลุมรอบด้านต่อไป

สิงคโปร์

แม้สิงคโปร์จะเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว แต่สิงคโปร์เองก็ต้องประสบปัญหาที่ผู้คนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกโดยรัฐบาล นอกจากนี้ยังเกิดความกังวลและความกลัวเกี่ยวกับการติดเชื้อ ความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิต การต้องปรับตัวกับมาตรการทำงานที่บ้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รายงานว่าจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ของสิงคโปร์ก็ตระหนักถึงปัญหาและข้อกังวลดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) ที่ได้พยายามหาแนวทางเพื่อบรรเทาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อาทิ

-การพัฒนา Online Mental Health Platform อาทิ “My Mental Health” โดย Ministry of Health Office, Agency for Integrated Care (AIC) และ Temasak Foundation เพื่อให้เป็นเว็บไซต์ในการให้ข้อมูลและเป็นเครื่องมือในการช่วยตัวเองจัดการปัญหาด้านสุขภาพจิต
-การจัดบริการเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้านพร้อมกับจัดเตรียมอาหารปรุงสุกพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้จำเป็นให้แก่ผู้สูงอายุตามบ้าน โดยองค์กรการกุศลซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Agency for Integrated Care (AIC)
-การโทรหาผู้สูงอายุรายสัปดาห์เพื่อตรวจสอบสุขภาพและความเป็นอยู่ โดยอาสาสมัครภายใต้ The Silver Generation Office (SGO) สัปด
-การให้บริการของ Samaritans of Singapore (SOS) ที่ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบปัญหาความเครียดหรือความกังวลใจ
-การให้บริการของสายด่วนสุขภาพจิต อาทิ
-สายด่วนสุขภาพจิตของ The Institute of Mental Health (IMH) ที่ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินกรณีที่มีความเสี่ยง และหากจำเป็นจะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการเข้าไปเยี่ยมที่บ้าน
– สายด่วนความห่วงใยแห่งชาติ (National Care Hotline) เพื่อช่วยเหลือด้านอารมณ์และสุขภาพจิตแก่สาธารณะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

เนเธอร์แลนด์

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เลือกใช้แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะเดียวกันก็เพื่อพยายามประคับประคองให้เศรษฐกิจยังคงดำเนินไปได้แบบหยุดชะงักน้อยที่สุด ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้นโยบายในการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเนเธอแลนด์ถูกมองว่าไม่ค่อยเข้มงวดเมื่อเทียบกับประเทศรอบข้างอย่างเยอรมนีและเบลเยี่ยมที่มีการปิดชายแดนไม่ให้ผู้คนเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ โดยนโยบายที่ถูกมองว่าไม่เข้มงวดของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์นี้ถูกเรียกในหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Intelligent Lockdown หรือ Smart Lockdown หรือ The 1.5 meter economy แต่ทั้งหมดหมายถึงรูปแบบการ Lockdown ที่ผ่อนปรน โดยเน้นเพียงการยกเลิกกิจกรรมหรือปิดสถานที่ขนาดใหญ่ที่คาดว่าน่าจะส่งผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น เทศกาล คอนเสิร์ต โรงแรม ร้านทำผม และร้านนวด เป็นต้น แต่สถานประกอบการทั่วไปยังคงเปิดให้ทำการปกติ อาทิ ร้านกาแฟและร้านขายของชำ รวมทั้งประชาชนยังสามารถออกไปเดินเล่นในพื้นที่สาธารณะได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องไม่ออกไปเดินด้วยกันมากกว่า 2 คนต่อครั้ง และในระหว่างเดินในพื้นที่สาธารณะจะต้องควบคุมระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร

นอกจากนี้ ความเชื่อของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่ว่า ‘การหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างเด็ดขาดนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ประชาชนที่ดีจะมีความรับผิดชอบส่วนบุคคลในการควบคุมความประพฤติของตนเอง’ นั้น จึงส่งผลให้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างผ่อนปรน และไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิมมากนัก อาทิ

-การอนุญาตให้ประชาชนสามารถออกไปเดินเล่นรับแสงแดดด้วยกันได้ไม่เกินครั้งละ 2 คน
-การอนุญาตให้สามารถพาสุนัขไปเดินเล่นในพื้นที่สาธารณะได้
-การอนุญาตให้สามารถให้คนมาเยี่ยมบ้านได้ไม่เกิน 3 คน และ
-หากบางบริษัทไม่สามารถให้คนทำงานที่บ้านได้ก็อนุญาตให้เปิดได้ตามปกติ เป็นต้น

เรียบเรียงข้อมูล โดย ภาณี จันทร