ในขณะที่ผู้คนบางส่วนหรือส่วนใหญ่อาจยังคิดว่าการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของเมืองเป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานภาครัฐ วันนี้ คุณพัทธวีร์ หงษ์เวียงจันทร์ Policy Visualiser แห่งสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม “Spotlife” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนธรรมดา/คนรุ่นใหม่หลากหลายแวดวง ได้เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมล่าสุดที่กลุ่มของพวกเขาได้ไปเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ (creative platform) สำหรับให้ผู้คนทั่วไปได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ และความฝันที่จะพัฒนา ‘เมืองเชียงใหม่’ ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อ “เซาะบ่าปะ” ซึ่งเป็นภาษาเหนือที่แปลว่า ‘หาไม่เจอ’ โดยมีเบื้องหลังแนวคิดและความเชื่อที่ว่า ที่จริงแล้วนั้นคนที่อยากออกมาช่วยคิดและทำเพื่อแก้ปัญหาของเมืองและพัฒนาเมืองนั้นมีอยู่จำนวนมาก แต่ที่ดูเหมือนว่าเราหาพวกเขาไม่ค่อยเจอ นั่นก็เพราะช่องทางหรือพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนได้ออกมาช่วยกันคิดและทำที่มีอยู่อาจมีจำกัด บ้างก็ดูเป็นทางการ หรือบ้างก็ดูยากเกินกว่าที่ผู้คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึง
.
เมื่อปลายปี 2020 กลุ่ม Spotlife จึงได้เปิดพื้นที่ “เซาะบ่าปะ” ในย่านช้างม่อย เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Chiang Mai Design Week 2020 โดยการสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เชียงใหม่ พวกเขาได้ออกแบบ “เซาะบ่าปะ” ให้เป็นพื้นที่ interactive exhibition ที่ดึงดูดความสนใจเพื่อชวนผู้คนธรรมทั่วไปมา ‘เซาะ’ มา ‘ปะ’ ไอเดียดีๆ ในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ร่วมกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายในพื้นที่แห่งนี้ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้
.
ตั้งแต่เดินเข้าไปในพื้นที่ เราจะได้ ‘ร่วมอวยพรเมืองเชียงใหม่’ เพื่อเป็นการสื่อถึงความปรารถนาดีของผู้คนต่อเมืองในขณะที่ได้เห็นคำอวยพรของคนอื่นๆ ที่แขวนไว้ในลักษณะเดียวกับการแขวนตุงอีกด้วย จากนั้นความรู้ของพวกเราเกี่ยวกับเมืองที่เราอยู่หรือที่เรามีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีๆ ที่เรารู้หรือปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ได้ถูกรวบรวมด้วย ‘การนำไปติดบนแผนที่เมือง’ และสุดท้ายเราได้ ‘วาดรูปเมืองในฝัน’ แบบที่เราอยากให้เชียงใหม่เป็น ซึ่งเป็นการใช้ศิลปะในการสื่อสารโดยไม่มีการปิดกั้นความคิด
.
ขณะนี้กลุ่ม Spotlife ได้ประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเปิดพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งทำให้ทราบถึงประเด็นปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ที่เป็นเสียงจากผู้คนธรรมดาทั่วไป และในก้าวต่อไปพวกเขาวางแผนในการวิเคราะห์ถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาเพื่อนำไปสู่การจัดเปิดพื้นที่ให้มีการถกเกี่ยวกับปัญหาด้านนั้นๆ ที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง
.