INNOVATION INDEX FOR INCLUSIVE, SUSTAINABLE, AND CONNECTED CITY.

แม้ว่าดัชนีวัดนวัตกรรมจะมีอยู่จำนวนมากในโลก ทว่าดัชนีส่วนใหญ่วัดนวัตกรรมในระดับประเทศ (country lens) ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่านวัตกรรมนั้นเกิดขึ้นที่จุด (spot) ไหน หรือเมื่อวัดที่ระดับเมืองก็มักเน้นวัดที่บทบาทของภาคส่วนต่างๆ แบบแยกส่วน ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีที่มีอยู่มักมีแนวคิดที่เน้นว่านวัตกรรมคือการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทว่า ยังขาดการให้ความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
เพื่อขจัดช่องว่างดังกล่าว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้พัฒนาดัชนีทางเลือก (alternative index) ขึ้น ในชื่อ ‘ดัชนีวัดศักยภาพเมือง ในการเป็นเมืองนวัตกรรมที่ใส่ใจมิติความทั่วถึง ยั่งยืน และ เชื่อมโยง (INNOVATION INDEX FOR INCLUSIVE, SUSTAINABLE, AND CONNECTED CITY) หรือ ISC โดยมุ่งวัดศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมในระดับ ‘เมือง’ (city lens) เพราะเล็งเห็นว่า ทุกวันนี้มิใช่ ‘ประเทศ’ ทว่าเป็น ‘เมือง’ (cities not countries) ที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้มุ่งไปข้างหน้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมนั้นเกิดรูปก่อร่างที่เมือง เพราะ ‘เมือง’ คือที่ที่ปัญหาใหญ่ๆ สำคัญๆ เกิดขึ้น ความท้าทายต่างๆ ที่เมืองเผชิญนับวันจะยิ่งสลับซับซ้อนและขยายตัวขึ้น ผู้คนในเมืองจึงเลือกที่จะสร้าง solutions และเลือกที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนานวัตกรรม (Cities are where innovation happens)
ดัชนี ISC พัฒนาขึ้นบนฐานแนวคิดสำคัญ 3 ประการ คือ
- การมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็ง (a healthy city innovation ecosystem): ความเป็นเมืองนวัตกรรมไม่สามารถมองแบบแยกส่วน แต่เกิดจากความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในเมือง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และผู้คนในสังคม ดังนั้น ISC จึงวัดการทำงานร่วมกันภาคส่วนต่างๆ ในระบบนิเวศนวัตกรรมของเมือง
- นวัตกรรมในเมือง เป็นได้ทั้งเชิงผลิตภัณฑ์ เชิงบริการ เชิงกระบวนการ และรวมไปถึงนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมเชิงนโยบายหรือการบริหารจัดการ
- เป้าหมายเมืองนวัตกรรม ไม่ใช่แค่การยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นเมืองนวัตกรรมที่มุ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน