International Women's Day

To celebrate the upcoming “International Women’s Day”, we would like to showcase innovative and empowerment policy speeches of ambitious women in many fields of specialization. Each person has their own story to tell the world and has left unmeasurable footprints on this world. Not only have these women expanded the presence of women in their designated areas of study, but they have also empowered many other individuals along their journey.
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (International Women’s Day) คือ วันที่ 8 มีนาคม ที่กำลังจะมาถึงนี้ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University, School of Public Policy) ขอมาแบ่งปันคำพูดของสตรีทรงอิทธิพลจากแขนงต่างๆ ในสังคม อาทิ การศึกษา การเมือง และกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนล้วนมีเส้นทางการต่อสู้ในการผลักดันให้ผู้หญิงมีสิทธิและเสียงมากขึ้นเทียบเท่ากับทุกคนในสังคม โดยทุกคำพูดที่ถูกคัดเลือกมาล้วนเป็น “Empowerment speech” กล่าวคือ เป็นคำพูดที่สร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ฟังทุกคน เนื่องจากเป็นการกล่าวถึงความสามารถที่ไร้ขีดจำกัด ความกล้าหาญในการลุกขึ้นสู้ต่อความไม่เท่าเทียม และการเดินทางของผู้หญิงทุกคนในการสร้างพื้นที่เพื่อเป็นการเพิ่มเสียงให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมบนพื้นฐานทางเพศในสังคม
Malala Yousafzai
“ฉันเปล่งเสียงขึ้นไม่ใช่เพื่อตะโกน แต่เพื่อเป็นเสียงแทนผู้คนที่ไม่มีเสียง ให้พวกเขาถูกรับฟัง… พวกเราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากครึ่งหนึ่งของพวกเรายังคงถูกฉุดรั้งไว้ข้างหลัง”
เหตุการณ์ที่ทำให้ Malala ถูกขนานนามว่าเป็นนักขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อสตรี คือ การเผยแพร่ข้อมูล และบทความเชิงการวิพากษ์ภายใต้นามแฝงผ่านบล็อกออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ปากีสถาน อันเป็นบ้านเกิด ซึ่งถูกควบคุมโดยกลุ่มตาลีบันในขณะนั้น โดยกลุ่มทหารตาลีบันได้ทำการยึดอุปกรณ์สื่อสาร จำกัดอำนาจของประชาชน และยังได้ริดรอนสิทธิของสตรีในการไปเรียนหนังสือ ทั้งนี้ ความกล้าหาญในการเปิดเผยการกระทำอันเลวร้ายของทหารตาลีบันข้างต้น ได้ส่งผลให้ Malala ถูกลอบทำร้าย และโดนยิงเข้าที่ศรีษะข้างซ้ายแต่โชคดีที่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต เหตุการณ์นี้เองส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจและรู้จัก Malala มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีผู้คนจำนวนกว่า 2 ล้านคน ได้ลงนามในคำร้องเพื่อสนับสนุนสิทธิการศึกษาของประชาชนชาวปากีสถาน โดยสมัชชาแห่งชาติได้ให้สัตยาบันกฎหมายฉบับแรกของประเทศปากีสถานเกี่ยวกับการศึกษาภาคบังคับที่ไม่มีค่าใช้จ่าย
ในด้านของการขับเคลื่อนทางการศึกษาเพื่อผู้หญิง Malala และพ่อของเธอได้ทำการจัดตั้ง “กองทุนมาลาลา” (Malala Fund) ในปี 2013 ซึ่งมุ่งในการเพิ่มความตระหนักต่อการศึกษาของเด็กผู้หญิงผ่านเครือข่าย การทำข้อริเริ่มในระดับท้องถิ่น และการเจาะให้ความสำคัญกับประเทศที่ประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด โดยผลงานข้างต้นได้ส่งผลให้ Malala ก้าวขึ้นมาเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาสันติภาพในปี 2014
Ruth Bader Ginsburg
“ผู้หญิงสมควรได้อยู่ในทุกที่ที่ต้องมีการตัดสินใจ เป็นอันไม่สมควรที่ผู้หญิงจะถูกเป็นข้อยกเว้น”
ในแวดวงการนักกฎหมาย ไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก Ruth Bader Ginsburg เนื่องจาก Ruth เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ได้เข้าไปทำงานในศาลสูงสุดสหรัฐฯ (Supreme Court) ภายใต้ตำแหน่ง Associate Justice ระหว่างปี 1992 -2020 ซึ่งเป็นการขยายการมีตัวตนของผู้หญิงในแวดวงกฎหมายอย่างชัดเจน
ระหว่างการเรียนกฎหมายที่ Harvard Law School ในปี 1957 Ruth เป็นหนึ่งในผู้หญิงเก้าคนที่เรียนกฎหมายในรุ่นนั้น ซึ่งพวกเขาได้ถูกริดรอนสิทธิต่างๆ ในการเรียนอย่างมาก อาทิ การห้ามใช้ห้องสมุด การถูกถามถึงเหตุผลที่มา “แย่งที่” ผู้ชายเรียน และการกระทำอื่นๆ อีกจำนวนมากที่มีลักษณะของการเหยียดเพศ ต่อมา Ruth จึงได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะสัญลักษณ์แห่งเฟมินิสต์ผ่านการทำหน้าที่เชิงกฎหมายในคดีความที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการเหยียดบนพื้นฐานของเพศภายในสหรัฐฯ อาทิ สิทธิสตรี สิทธิของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิ LGBTQ เป็นต้น โดยคำพูดอันแหลมคม และการให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศส่งผลให้ Ruth เป็นที่รักและนิยมชมชอบของนักสิทธิสตรีเป็นอย่างมาก แม้ว่า Ruth จะได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในปีที่ผ่านมาแต่ตำนานของเธอได้ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของทุกคนอย่างไม่ลืมเลือน
Emma Watson
“แต่ช่างน่าเศร้าที่ฉันต้องกล่าวว่าไม่มีประเทศใดบนโลกนี้ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถคาดหวังว่าจะได้เห็นสิทธิเหล่านี้ ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถพูดได้ว่าพวกเขาได้บรรลุความเท่าเทียมทางเพศแล้ว”
Emma Watson มักจะถูกจับตามองในฐานะนักแสดงนำของภาพยนต์ชื่อดังอย่าง Harry Potter แต่อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้ Emma เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของเหล่าแฟนคลับ คือ การเป็นนักสิทธิสตรีตัวแม่ที่ออกมาเป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญในสังคม โดยหนึ่งในตำแหน่งที่ Emma ได้รับเพื่อขยายเสียงของเธอในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ คือ การได้รับแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีของ UN Women ในปี 2014 โดยรับหน้าที่ในการขับเคลื่อนโครงการ (#HeForShe) ซึ่งเป็นแคมเปญในการรณรงค์และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของ UN Women นอกเหนือจากบทบาทข้างต้น Emma ยังเคยมีประสบการณ์ในการเป็นทูตสำหรับ CAMFED (Campaign for Female Education ) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อมอบการศึกษาแก่เด็กผู้หญิงในพื้นที่ชนบทของประเทศแอฟริกา
นอกจากนี้ Emma ยังได้สนับสนุนการจัดตั้งสายด่วนฟรี โดยสายด่วนนี้ถือว่าเป็นสายด่วนเดียวที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คำแนะนำทางกฎหมายแก่ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงานภายในเวลส์และอังกฤษ ซึ่งโครงการข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกฎหมาย “Rights of Women” โดยอาสาสมัครที่เป็นผู้หญิงและนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดงานที่เป็นผู้หญิงจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้ใช้บริการ และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนรัฐบาล เช่น “Time’s Up UK Justice and Equality Fund” และ “UK Fund for Women and Girls” เป็นต้น
Mitchelle Obama
“ไม่มีข้อจำกัดสำหรับสิ่งที่เราจะสามารถทำได้ในฐานะผู้หญิง”
แม้ว่าปัจจุบันการเมืองสหรัฐได้มีการปรับเปลี่ยนผู้นำและรัฐบาลชุดใหม่แล้ว แต่ Michelle Obama ก็ยังคงเป็นบุคคลที่ตราตรึงในใจสำหรับประชาชนสหรัฐและในระดับนานาชาติ ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่มีเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของสหรัฐฯ ซึ่ง Michelle ได้สร้างผลงานมากมายในช่วงการทำงานของ Barack Obama ผู้เป็นสามี
ในด้านของการปลุกพลังสำหรับสิทธิสตรี Michelle และสามีได้ริเริ่มโครงการในช่วงการทำงานของ Barack ที่มีชื่อว่า ‘Let Girls Learn’ โดยเป็นโครงการริเริ่มของรัฐบาลสหรัฐที่มุ่งให้เด็กผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และลดทอนความรุนแรงต่อเยาวชน ซึ่งรัฐบาล Obama ในตอนนั้นได้จัดแจงเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ “Let Girls Learn Challenge Fund” ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) เป็นจำนวน 25 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อริเริ่มกองทุนข้างต้น โดยมุ่งพัฒนากรอบการศึกษาในสาธารณรัฐมาลาวีและแทนซาเนีย
นอกจากการให้ความร่วมมือกับโครงการทางการเมืองแล้ว Michelle ยังเป็นกระบอกเสียงต่อความไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงในเวทีระดับประเทศอย่างการประณามคดีความของทรัมป์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดทางเพศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการข่มขืนภายในสหรัฐฯ ที่มักจะโยนความผิดให้กับเหยื่อ
Laverne Cox
“ความเป็นสตรีนิยม มักหมายถึง การไปให้ไกลกว่าบทบาทและความคาดหวังที่คุณถูกมองว่าเป็นหรือควรจะเป็น เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริงมากขึ้น”
Laverne Cox ได้สร้างอนุสาวรีย์ในวงการบันเทิงจากการเป็นผู้หญิงทรานส์ผิวสีคนแรกที่ได้รับบทนำในรายการโทรทัศน์ ซึ่ง Laverne ได้รับบทนำในซีรี่ย์ Netflix อันโด่งดัง “Orange is the New Black” และยังได้ถูกเสนอชื่อชิงรางวัล Emmy อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า Laverne เป็นนักแสดงที่มากฝีมือ
ในแง่ของผลงานที่ทำให้ผู้คนติดตาม Laverne ในฐานะนักเคลื่อนไหวสิทธิทรานส์นั้น คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการขึ้นปกนิตยาสาร TIME ในปี 2014 ภายใต้หัวข้อ “The Transgender Tipping Point” ซึ่งเป็นการนำประเด็นของสิทธิผู้หญิงทรานส์มาแสดงสู่แนวหน้าของสังคมผ่านการเล่าเรื่องชีวิตความเป็นมา และเส้นทางของการเป็นผู้หญิงทรานส์ของเขา นอกจากนี้ Laverne ยังมีผลงานใหม่ในรูปแบบสารคดีที่มีชื่อว่า “Disclosure” ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวและอุปสรรคในการเป็นสาวทรานส์ และ “ความเป็นผู้หญิง” โดยผลงานนี้มุ่งเปิดพื้นที่ให้ประเด็นของสาวทรานส์ได้เข้ามามีบทบาทในวงการบันเทิงมากขึ้น และเอื้อหนุนให้สังคมได้เพิ่มความตระหนักและเกิดการมองเห็นตัวตนของชุมชนชาวทรานส์ (Trans Visibility) ภายในสังคมที่ขยายวงออกไปมากยิ่งขึ้นในแวดวงสื่อ
เรียบเรียงโดย พันไมล์ โรจนวิภาต
#RaiseYourWordsNotYourVoice #InternationalWomenDay #CMUSPP #WomenEmpowerment
ที่มา:
https://www.un.org/fr/messagers-de-la-paix/malala-yousafzai
https://malala.org/malalas-story?sc=header
https://www.britannica.com/biography/Ruth-Bader-Ginsburg
https://www.harpersbazaar.com/…/why-ruth-bader.../
https://www.unwomen.org/en/partnerships/goodwill-ambassadors/emma-watson
https://www.legalcheek.com/2019/08/harry-potter-star-emma-watson
https://www.britannica.com/biography/Michelle-Obama
https://www.nbcnews.com/…/michelle-obama-keep-fighting…
https://www.newyorkminutemag.com/five-things-michelle…/
https://br.usembassy.gov/fact-sheet-let-girls-learn…/
https://www.oprahmag.com/…/a28987199/laverne-cox-facts/
https://www.princeton.edu/…/actress-and-activist-cox…
https://time.com/135480/transgender-tipping-point/