International Women’s Day

As today is “International Women’s day”, we would like to show you how the influence of women has risen over the past decades. In the field of public policy, there are many female policymakers that are deeply engaged in the implementation and initiation of policies that impact our society. Each of the female policy influencers that have been chosen is from different continents and possess a different role in the policy field, but all of them are considered to be significant players within their specialized field. These fields include health, social, energy, environment, and more.
เนื่องในช่วงเดือนแห่งวันสตรีสากล (International Women’s day) สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอพาสำรวจบทบาทของผู้หญิงที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายสาธารณะจากมุมต่างๆ ของโลก ทั้งนี้ เนื่องมาจากผลของงานวิจัยหลายชิ้น อาทิ An Economic Theory of Political Action in a Democracy โดย Downs (1957), Women as Policy Makers: Evidence from a Randomized Policy Experiment in India โดย Chattopadhyay and Duflo (2014) และ What happens when a woman wins an election? Evidence from close races in Brazil โดย Brollo and Troiano (2016) ที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจทางนโยบายมักจะทำให้เกิดนโยบายที่ใส่ใจถึงความครอบคลุมในการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ วันนี้ Policy X-ray จึงขอนำตัวอย่างนโยบายสาธารณะที่น่าสนใจจาก 4 ประเทศ ที่ผู้หญิงได้เป็นตัวแสดงสำคัญในด้านนโยบายในมิติต่างๆ
ญี่ปุ่น: นโยบายด้านสาธารณสุข
ภาพจาก https://www.tokyo-np.co.jp/article/40100
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่นับว่าเป็นภาวะวิกฤติทางสุขภาพของมนุษยชาติ นโยบายและมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสของ ชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าขาดความชัดเจนในการจัดลำดับความสำคัญระหว่างสาธารณสุขและภาวะเศรษฐกิจ ทว่า ในขณะเดียวกันนั้น การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของ ยูริโกะ โคะอิเกะ (Yuriko Koike) ผู้ว่าการกรุงโตเกียว กลับได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากชาวญี่ปุ่นถึงความมีประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความเด็ดขาดในการรับมือกับเชื้อไวรัส ทำให้เธอได้รับคะแนนเสียงจำนวนมหาศาลในการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียว ซึ่งจัดขึ้นช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกลายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการโตเกียว สมัยที่ 2
การกระทำของ ยูริโกะ โคะอิเกะ ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ภาวะผู้นำของเธอ คือ การยืนกรานอย่างไม่มีข้อแม้ที่จะให้นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ดำเนินการปิดประเทศในช่วงเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2563 และนำแนวปฏิบัติ 3Cs อันเป็นที่จดจำของผู้คน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติอย่างง่ายในการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่นำไปสู่การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย 3Cs ได้แก่ พื้นที่ปิด (Closed Spaces) พื้นที่แออัด (Crowded Places) และการอยู่ใกล้กัน (Close-Contact Settings) อันส่งผลให้สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นภายในเมืองโตเกียวในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงโตเกียว ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 1,337 รายในวันเดียว ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดของกรุงโตเกียว ปัจจุบัน แม้กรุงโตเกียวได้ดำเนินมาตรการการควบคุมเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านการขอความร่วมมือร้านอาหารให้เลื่อนกำหนดเวลาปิดร้านให้เร็วขึ้น ทว่า มาตรการดังกล่าวกลับไม่ได้รับความร่วมมือมากนัก ทำให้ ยูริโกะ โคะอิเกะ ต้องทำงานอย่างแข็งขันในการพยายามผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้สามารถบังคับใช้มาตรการต่างๆ ได้เข้มงวดกว่าเดิม เช่น การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นออกคำสั่งยกเลิกการจัดกิจกรรม และการระงับใช้อาคารหรือโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยูริโกะ โคะอิเกะ ไม่เพียงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวมาแล้ว 2 สมัย ซึ่งนับว่าเป็นผู้ว่าการหญิงคนแรกของกรุงโตเกียวเท่านั้น แต่เมื่อปี 2550 เธอยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่เป็นผู้หญิงคนแรกของญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งความสามารถที่โดดเด่นของเธอ โดยเฉพาะในช่วงการจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เธอถูกจับตามองว่าอาจจะเป็น ‘ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของญี่ปุ่น’ ในอนาคต
เยอรมนี: นโยบายด้านพลังงาน
ภาพจาก https://theconversation.com/angela-merkel-to-run-again…
หลังจากเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl disaster) ที่ประเทศยูเครน ในปี 2529 ซึ่งนับว่าเป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทำให้หลายประเทศที่ใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตระหนักถึงความเสี่ยงในการเกิดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พลังงานดังกล่าว และเริ่มใช้พลังงานประเภทอื่นเพื่อทดแทนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทว่าเยอรมนีเป็นหนึ่งในหลายประเทศอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปที่ยังสนับสนุนนโยบายการใช้พลังงานนิวเคลียร์หลังจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์ในระหว่างที่กำลังหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน
อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ (Fukushima Daiichi nuclear disaster) ในประเทศญี่ปุ่น ปี 2554 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 15,000 คน ส่งผลให้ในปีเดียวกันนั้น แองเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยเธอตัดสินใจดำเนินนโยบายยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ทันที จากเดิมมีแผนการยืดอายุการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในประเทศที่ตั้งใจว่าจะยืดอายุออกไปจนถึงปี 2579 โดยในปี 2554 เยอรมนีได้เริ่มต้นสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 7 แห่ง จาก 17 แห่ง เป็นการถาวร และตั้งใจปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศทั้งหมดภายในปี 2565 รวมทั้งสร้างนโยบายที่รู้จักในชื่อ Energiewende ซึ่งเป็นนโยบายการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ได้ร้อยละ 34 ของปริมาณการผลิตของพลังงานทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2563 เพื่อให้ทันกับการยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ และต้องเพิ่มให้ได้ร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตของพลังงานทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2593 ทั้งนี้ การยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์จะส่งผลให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลักประเทศแรกของโลกที่จะเลิกการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากชาวเยอรมันเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวเยอรมันเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์มีอันตรายสูง และเยอรมนีไม่ควรพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว
อนึ่ง ก่อนที่ แองเกลา แมร์เคิล จะหันมาทำงานด้านการเมือง เธอเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์และมี PhD ด้านสาขาฟิสิกส์ และเมื่อเธอตัดสินใจทำงานด้านการเมือง เธอได้พิสูจน์ความสามารถอันหลากหลายของเธอผ่านการเป็นผู้นำของเยอรมนีต่อเนื่องถึง 4 สมัย ถือเป็นผู้นำที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของเยอรมนี โดยในวันที่เธอประกาศสละเก้าอี้หัวหน้าพรรค พร้อมความตั้งใจที่จะไม่กลับมาลงเลือกตั้งอีก ทำให้ชาวเยอรมันเกือบ 10 ล้านคน พร้อมใจกันออกมานอกบ้านเพื่อปรบมือให้กับเธอเป็นเวลาต่อเนื่องเกือบ 10 นาที เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่นายกรัฐมนตรีหญิงของคนเยอรมันอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ
อินเดีย: นโยบายด้านสังคม
ภาพจาก https://magazine.outlookindia.com/…/champion-of…/300723
วัฒนธรรมบางส่วนของอินเดียมักจะแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับชนชั้นและเพศสภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกในสังคมอินเดีย โดยน่าสนใจมากว่าความเหลื่อมล้ำดังกล่าวมีอยู่ในทุกบริบทของสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งการจ่ายค่าสินสอดและการจัดงานแต่งงาน ทั้งนี้ ประเทศอินเดียมีแนวคิดยึดโยงผู้หญิงไว้กับสามี และการที่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นสิ่งของของสามี ทำให้เกิดประเพณีเรื่องพิธีแต่งงานที่ให้ครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีแต่งงาน เพื่อให้ฝ่ายชายรับฝ่ายหญิงไปเลี้ยงดู อีกทั้งยังนิยมจัดพิธีแต่งงานขนาดใหญ่ที่มีความหรูหราและราคาแพง ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องกู้ยืมเงินจนเป็นหนี้สินจำนวนมหาศาล ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกถูกกดขี่จากประเพณีการแต่งงานเช่นนี้ จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางครอบครัวเลือกที่จะทำแท้งลูกหากพบว่าลูกเป็นผู้หญิง เพื่อหลีกหนีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าแต่งงานให้แก่ลูกสาวในอนาคต แม้ว่าจะยังไม่รู้ได้ว่าลูกสาวจะแต่งงานหรือไม่
เรื่องราวดังกล่าวถูกตอกย้ำว่าเป็นเรื่องจริงอีกครั้งหลังจากที่ รันจิต รันจัน (Ranjeet Ranjan) สมาชิกสภานิติบัญญัติของอินเดีย ได้ทราบเรื่องราวการจัดงานแต่งงานของลูกจ้างคนหนึ่งของเธอ โดยลูกจ้างคนดังกล่าวได้ใช้เงินจำนวน 500,000 รูปี หรือประมาณ 200,000 บาท เพื่อจัดพิธีแต่งงานให้แก่ลูกสาว ทั้งลูกจ้างคนนั้นได้รับเงินเดือนเพียงแค่ 10,000 รูปีต่อเดือน หรือประมาณ 4,100 บาทต่อเดือนเท่านั้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ รันจิต รันจัน ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติข้างต้น เนื่องจากประชากรที่อยู่ในชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของอินเดียมีอยู่ถึงร้อยละ 80 ดังนั้น การที่ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายแบกภาระในการจัดงานแต่งงานที่หรูหราเพียงเพื่อแสดงภาพลักษณ์ว่ามีสถานะและความร่ำรวยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดย รันจิต รันจัน มองว่าการแต่งงานควรจะเป็นการเฉลิมฉลองมากกว่าการอวดสถานะและความร่ำรวย อย่างไรก็ตาม การที่ครอบครัวผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายจัดงานแต่งงานในอินเดียนั้นถือเป็นเรื่องของประเพณีที่มีมานานและคงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือล้มเลิกได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ พยายามหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ รันจิต รันจัน จึงได้จุดประเด็นความตระหนักในสังคมจนเกิด #Notobigfatwedding โดยในปี 2560 เธอได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวผ่านการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อบังคับลงทะเบียนการแต่งงานและการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง (Compulsory Registration and Prevention of Wasteful Expenditure) โดยบังคับให้ลงทะเบียนก่อนการจัดงานแต่งงาน 60 วัน ซึ่งต้องมีการจำกัดจำนวนแขกและญาติที่มาร่วมงานแต่งงาน รวมถึงการจำกัดจำนวนอาหารที่จะนำมาบริการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบริการอาหารมากเกินไปจนเหลือทิ้ง นอกจากนี้ หากมีการใช้เงินจัดงานแต่งงานเกิน 500,000 รูปี ผู้จัดงานจะต้องบริจาคเงินร้อยละ 10 ของเงินทั้งหมดนั้นให้แก่กองทุนรัฐบาลเพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือสำหรับการจัดงานแต่งงานให้แก่ผู้หญิงที่มาจากครอบครัวยากจน ซึ่งกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากคนรุ่นใหม่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2547 – 2552 รันจิต รันจัน นับได้ว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขต Saharsa ที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐ Bihar ที่อายุน้อยที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างของอินเดีย และต่อมาในปี พ.ศ. 2557 – 2562 ยังได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขต Supaul รัฐ Bihar ในสภาผู้แทนราษฎร
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: นโยบายด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ
ภาพจาก https://www.bbc.com/news/av/science-environment-53395419
แม้ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นน้องใหม่และมีประสบการณ์ไม่มากเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ยุโรป และอินเดีย ทว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ไม่หยุดพัฒนาและผลักดันโครงการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ จนในที่สุดก็สามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร (Hope Mars Mission) ได้สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกในการส่งยานอวกาศขึ้นไปในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กลายเป็นหน่วยงานด้านอวกาศลำดับที่ 5 ที่ประสบความสำเร็จในภารกิจเดินทางไปดาวอังคารและเป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในภารกิจระหว่างดาวเคราะห์ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของโครงการดังกล่าว คือ ซาราห์ อัล อามิรี (Sharjah, Al Amiri) รัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE’s Minister for Advanced Sciences) เธอเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประเทศ อีกทั้งเธอยังดำรงตำแหน่งประธานของ UAE Space Agency โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ภายในประเทศ รวมถึงผลักดันให้เกิดวิทยาศาสตร์ชั้นสูงแขนงใหม่ๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์อวกาศ
อนึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานทางวิทยาการ (Knowledge-based economy) เพื่อลดการพึ่งพาการใช้แก๊สและน้ำมัน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้น ในฐานะรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูง ซาราห์ อัล อามิรี ตั้งใจทำงานอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะผลักดันให้เกิดโครงการส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร และต้องการให้การเดินทางขึ้นไปสู่ดาวอังคารครั้งนี้ประสบความสำเร็จและมีความแตกต่างจากการเดินทางไปดาวอังคารของประเทศอื่น กล่าวคือ การสร้างยานอวกาศเองโดยไม่พึ่งพาประเทศอื่น และมีความประสงค์ในการหาสาเหตุดาวอังคารต้องสูญเสียน้ำและอากาศจำนวนมาก เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ไปต่อยอดเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอนาคต อันจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศแทน ซึ่ง ซาราห์ อัล อามิรี มองว่าโครงการส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแรงบันดาลให้เยาวชนในประเทศและภูมิภาคหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดาราศาสตร์มากขึ้นทั้งในระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ เธอยังพยายามผลักดันให้เกิดโครงการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศในอนาคต อาทิ ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในปี 2567 และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคารให้ได้ในปี พ.ศ. 2660
ทั้งนี้ ก่อนที่ ซาราห์ อัล อามิรี จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวิศวกรคอมพิวเตอร์ และยังเคยทำงานในฐานะวิศวกรโปรแกรมที่ Emirates Institution for Advanced Science and Technology (EIAST) และเคยเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ Mohammed Bin Rashid Space Center ที่ที่ทำให้เธอเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา Dubai Sat-1 ดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เรียบเรียงโดย ภาณี จันทร