วันนี้จะพามาตรการเรียนที่บ้าน (Learn from home) ไปตรวจสุขภาพ โดยเริ่มจากการจับชีพจร (Policy pulse) ด้วย IIP Policy Index ซึ่งพิจารณาระดับการนับรวมของนโยบาย (Inclusive) ระดับความสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา (Innovative) และระดับการมองไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน (Progressive)

ผลของ rapid assessment นี้พบว่ามาตรการนี้มีความตั้งใจที่จะไม่กีดกันใคร ด้วยการสร้างทางเลือก เช่น การเรียนผ่านออนไลน์ การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV หรือแม้แต่การให้ผู้ปกครองช่วยสอนและทำแบบฝึกหัด (2 คะแนน) ทว่า ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่มาก จึงเกิดผลลัพธ์ที่โรงเรียน นักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากเสมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ภายใต้โครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ เนื่องจากไม่ได้สร้างความพร้อมให้ในแบบที่หลายประเทศทำ เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ (โปรดติดตาม Policy X ray มาตรการเรื่องนี้ในประเทศเหล่านั้นใน post ต่อไป)

ทั้งนี้ ยังเป็นมาตรการที่ใช้แนวทางเดิมจากการรับมือรอบแรก (1 คะแนน) โดยยังขาดการลดช่องว่างหรือสร้างมิติใหม่เพื่อยกระดับความพร้อม ซึ่งจะดีขึ้นได้หากมีการถอดบทเรียนที่ผ่านมาจริงจัง เรียนรู้แนวทางจากต่างประเทศ และพัฒนานวัตกรรม

นอกจากนั้น มาตรการนี้ยังนับว่าเน้นรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นหลัก (2 คะแนน) ในขณะที่หลายประเทศถือโอกาสนี้ในการวางพื้นฐานสำหรับการศึกษาแบบใหม่สำหรับอนาคต เช่น เกาหลีใต้