การที่ไม่มีสูตรสำเร็จแบบตายตัวในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านอายุ ความคิด และทัศนคติ ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าการนำทฤษฎีหรือแนวความคิดด้านนโยบายไปปรับใช้ให้มีผลทางปฏิบัติในโลกความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องยาก วันนี้คุณจามีกร อำนาจผูก Policy Influencer จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ริเริ่ม Policy Lab ของเมืองเชียงใหม่ จะมาเล่าให้ฟังถึงการนำองค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะไปใช้ในการสร้างสรรค์นโยบายในโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในสังคมผ่านพรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ ที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วม
.
จุดตั้งต้น คือ ต้องการสร้างทางเลือกนโยบาย (Policy options) ที่มุ่งพัฒนา เปลี่ยนแปลง โดยที่ไม่ได้คิดถึงเพียงแค่การพัฒนาในปัจจุบัน แต่เป็นการพัฒนาต่อเนื่องสำหรับคนรุ่นต่อๆไปในชุมชนเมืองเชียงใหม่ เพื่อที่ว่าประชาชนจะได้มีทางเลือกใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกับแนวทางการพัฒนาเดิมๆ ที่ขาดความแปลกใหม่ ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงแล้ว นโยบายสาธารณะบางเรื่องก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก และอาจไม่สามารถทำได้จริง เพราะเมื่อคุณจามีกรได้เข้ามาคลุกคลีกับชุมชนในฐานะเป็นดั่งผู้ประกอบการทางสังคม (Social enterprise) ทำให้ได้เห็นถึงความท้าทายในแง่ที่ว่า การคิดนโยบาย การสื่อสารนโยบาย และการทำให้นโยบายเป็นที่ยอมรับสำหรับคนทุกกลุ่มไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีมุมมอง ความคิดที่แตกต่างและหลากหลาย
.
ด้วยเหตุนี้ คุณจามีกร จึงเลือกที่จะนำแนวคิด IIP (Inclusive, Innovative, Progressive) ซึ่งเป็น DNA ของสถาบันนโยบายสาธารณะ มช. มาเป็นกรอบในการออกแบบทางเลือกนโยบายที่เน้นการมองมนุษย์ทุกคนอย่างเป็นธรรมชาติที่มองเห็นความแตกต่างของทุกคนอย่างเท่าเทียม และเป็นกรอบในการสื่อสารนโยบายให้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มโดยเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าใจและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เหมือนกัน เช่น การให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สีบนสื่อประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับคนตาบอดสีที่พวกเขาจะได้เห็นสีเช่นเดียวกับทุกคน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการนำหลักคิด 3Ds (Default, Design, Deliberation) มาใช้ในการเริ่มต้นสร้างนโยบายสาธารณะใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเมืองในระดับท้องถิ่น ซึ่งแนวคิด 3D นี้ก็ถูกนำเสนอเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุดนโยบายสาธารณะที่เกิดจากแนวความคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้จากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบนพร้อมกัน ดังนั้น เมื่อถึงจุดที่ชุดนโยบายสาธารณะนี้เจอกันในพื้นที่ตรงกลางจึงหมายถึงความสำเร็จของการนำนโยบายสาธารณะนั้นๆ ไปใช้ในความเป็นจริง
.
ทั้งนี้ คุณจามีกร ได้ให้มุมมองทิ้งท้ายที่น่าสนใจว่า “ความหลากหลายและ Inclusive จะนำมามาซึ่ง Innovative โดยตัวของมันเอง และเมื่อความ Innovative เกิดขึ้นแล้ว ความ Progressive ที่จะเกิดขึ้นเพื่อคนรุ่นถัดไปก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องบังคับหรือกดดันให้เกิดขึ้นเลย เมื่อรวมกันแล้วก็จะได้ทางเลือกนโยบายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง”
.
*ขอขอบคุณ ผศ.ดร.อรอร ภู่เจริญ (ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ได้ถ่ายทอดแนวคิด 3Ds ที่ว่าด้วย Default, Design, และ Deliberation ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้เป็นกรอบในการออกแบบทางเลือกนโยบายที่สำคัญ
.
เรียบเรียงโดย ภาณี จันทร