Empathetic speech

“ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ทำให้เรื่องความเหงาเป็นสิ่งที่พวกเราล้วนให้ความสำคัญ เราทุกคนล้วนต่างมีบทบาทในการที่จะมีน้ำใจและดีต่อกันและดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ในขณะที่บางคนเริ่มที่จะตั้งตัวและกลับคืนสู่การใช้ชีวิตตามปกติได้บ้าง ทว่าเราก็ไม่สามารถหลงลืมผู้คนที่อาจจำเป็นต้องอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานต่อไปอีกและอาจตกอยู่ในความรู้สึกโดดเดี่ยวไปได้”
.
คำกล่าวข้างต้น เป็นของ Baroness Barran รัฐมนตรีกระทรวงความเหงา (Minister of Loneliness) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้กล่าวไว้เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2563 อันหมายถึงช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนักในสหราชอาณาจักร โดยคำพูดนี้มีลักษณะของการเป็น Empathetic speech เนื่องจากได้แสดงนัยให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงการร่วมกันแสดงบทบาทในการสอดส่องความเป็นไปของผู้คนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้คนที่อาจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษในการได้รับผลกระทบด้านสุขภาวะทางใจจากที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ต่อเนื่องยาวนาน
.
Baroness Barran ถือเป็นหนึ่งในตัวแสดงสำคัญทางนโยบายของรัฐบาลในช่วงแพร่ระบาด COVID-19 โดยเฉพาะการนำเสนอและผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวของประชาชนที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมและการแยกตัวในช่วงล็อคดาวน์ โดยได้ออกมาพูดและจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อให้สาธารณะใส่ใจที่จะคิดถึง ถามไถ่ และยื่นมือไปยังเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาวะทางจิตสูง ซึ่งหมายถึง คนท้อง ผู้สูงอายุที่อายุ 70 ปี ขึ้นไป หรือ ผู้มีปัญหาทางสุขภาพอย่างหนัก เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกว่าถูกหลงลืม
.
หนึ่งในโครงการที่รัฐมนตรีกระทรวงความเหงาได้ร่วมมือกับ สำนักงานไปรษณีย์ และ Royal Mail เพื่อจัดการกับความเหงาของผู้คน คือ โครงการ “Let’s Talk Loneliness” ซึ่งถึงแม้จะเป็นโครงการที่มีกิจกรรมที่ดูเหมือนจะเรียบง่าย อาทิ การทำตัวปั๊มคำว่า ‘Let’s Talk Loneliness’ ลงบนจดหมายและเอกสารที่ผู้คนส่งถึงกันในช่วง COVID-19 เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคมและทำให้รู้สึกว่าเรื่องการรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา และแม้แต่ความรู้สึกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอายและควรถูกพูดถึงได้ และแม้กระทั่งการจัด “สัปดาห์แห่งการความตระหนักต่อความเหงา” (Loneliness Awareness Week) ขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มิถุนายนในปีที่ผ่านมา โดยกระตุ้นให้ผู้คนเขียนการ์ดหรือจดหมายถึงกันและกันเพื่อติดตามความเป็นอยู่ของเพื่อนฝูง ครอบครัว และเพื่อนบ้าน เพื่อให้รับรู้ว่ายังนึกถึงกันและกันเสมอ ซึ่ง Baroness Barran เอง ก็ได้ลงมือเขียนถึงเพื่อนและครอบครัวของเธอเช่นกัน
.
โครงการความร่วมมือข้างต้น ริเริ่มจากการพบข้อมูลผลงานวิจัยที่จัดทำโดย the Royal Mail ที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนกว่า 74% รู้สึกว่าการเขียนจดหมายถึงกันและกันนั้นสร้างประโยชน์อย่างมากต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ซึ่ง Baroness Barran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแห่งความเหงาเองก็ได้กล่าวไว้เพิ่มเติมด้วยว่า แม้ว่าการเขียนจดหมาย จะเป็นศิลปะที่คล้ายจะถูกหลงลืม ทว่า ในช่วงเวลาเช่นนี้ การจับปากกาลงมือเขียนถึงกันและกันกลับเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องการมากกว่าเวลาไหนๆ ที่จะช่วยทำให้พวกเราต่างรู้สึกมั่นใจว่ายังคงนึกถึงกันและกันอยู่
.
ตัวอย่างเรียบง่ายข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการคิดเชิงนโยบายที่ไม่ลืมที่จะกวาดสายตามองผ่านเลนส์ที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีความเปราะบาง และใส่ใจถึงผลกระทบของสถานการณ์ต่อผู้คนที่รวมไปถึงผลกระทบด้านสุขภาวะทางจิต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่แฝงตัวและอาจส่งผลด้านลบต่อการใช้ชีวิต ที่ถูกกระตุ้นโดยตรงอย่างทวีคูณจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในทางกายภาพลดลงด้วยข้อจำกัดในการออกนอกสถานที่พัก การเว้นระยะห่างทางสังคม และการลดหรืองดการรวมกลุ่มภายในพื้นที่แออัดเพื่อลดโอกาสการสัมผัสและการแพร่ระบาดของเชื้อ หรือแม้แต่การที่เราต่างต้องพยายามรับมือและปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขของการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปแบบฉับพลัน
.
เรียบเรียงโดย พันไมล์ โรจนวิภาต