Chiang Mai University School of Public Policy
NIA : National Innovation Agency, Thailand

เป็นการเสนอแนวทางและร่วมกันออกแบบดัชนีวัดศักยภาพของเมืองในการเป็นเมืองนวัตกรรมที่ทั่วถึงยั่งยืนและเชื่อมโยง สะท้อนระบบนิเวศ (ecosystem) ของเมืองโดยการกำหนดให้แต่ละเมืองที่จะนำเอาดัชนีไปใช้ต้อร่วมกันระบุระบบนิเวศนวัตกรรมของเมืองตามธรรมชาติที่เป็นอยู่ (organic ecosystem) ให้ได้ก่อน ซึ่งขึ้นกับการกระจายตัวของย่านนวัตกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่นับรวมภาคส่วนทั้งหมดที่เข้ามาแสดงบทบาทในฐานะส่วนสำคัญของระบบนิเวศนวัตกรรมของเมือง “แม้ว่าที่ตั้งสำนักงานจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็ตาม” (beyond boundaries) เพื่อสะท้อนพลวัตรของการพัฒนานวัตกรรมที่แท้จริงและถือเป็นการตั้งต้นให้มีการทดลองใช้ในบริบทเมืองไทย จึงทั้งพยายามสะท้อนภาพและสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยสามารถถูกปรับปรุงพัฒนาได้อีกในอนาคต โดยในกิจกรรมมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อแลกเปลี่ยนและสะท้อนถึงประเด็นท้าทายสำหรับการนำดัชนีไปใช้อันได้แก่

  1. การกำหนดขอบเขตเมืองหรือหน่วยวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่เพื่อให้ขอบเขตดังกล่าวสอดคล้องกับระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีอยู่จริงของเมืองนับว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากต่างออกไปจากการกำหนดตามเขตการปกครองซึ่งจะไม่สะท้อนศักยภาพในการเป็นเมืองนวัตกรรมของพื้นที่อย่างแท้จริง
  2. การระบุตัวแสดงที่สำคัญในกลไกการบริหารจัดการเมือง (urban governance) นับว่ามีความท้าทายไม่แพ้กัน จากที่โดยโครงสร้างที่เป็นอยู่ของไทยในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะเจ้าของพื้นที่ไม่ได้เป็นกลไกหลักกลไกเดียวในการบริหารจัดการเมือง ทว่ามีอำนาจหน้าที่จำกัด หรือกล่าวได้ว่า การบริหารจัดการเมืองในบ้านเราเป็นบทบาทของหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภายในและนอกพื้นที่ ดังนั้นเมื่อดัชนีนี้นับรวมภาคส่วนทั้งหมดที่เข้ามาแสดงบทบาทในฐานะส่วนสำคัญของระบบนิเวศนวัตกรรมของเมือง “แม้ว่าที่ตั้งสำนักงานจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็ตาม” จึงทำให้เกิดความท้าทายในการระบุตัวแสดงที่สำคัญต่างๆ ให้ครอบคลุม
  3. การระบุประชากรของ “ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม” ในบริบทของเมืองไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมีทั้งที่ลงทะเบียนและที่ไม่ลงทะเบียนและไม่มีหน่วยงานใดเลยที่สร้างฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ ดังนั้นประเด็นท้าทายคือในการใช้ดัชนีนี้จำเป็นต้องกำหนดกลุ่มตัวอย่างจากฐานข้อมูลเท่าที่มีอยู่ โดยเฉพาะฐานข้อมูลของ BOI, หอการค้าจังหวัด, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด, ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค, สำนักงานพาณิชย์จังหวัด, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการลดความคลาดเคลื่อนนั้นคือการเก็บตัวอย่างจากฐานข้อมูลเท่าที่มีให้ครบทั้งหมด รวมถึงการใช้กลุ่มตัวอย่างจากผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในเมืองที่ถูกจัดขึ้นและเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม เนื่องจากสะท้อนว่าเป็นนวัตกรที่มีความตื่นตัวโดยต้องใส่ใจกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวคือพื้นที่ปฏิบัติการและกลุ่มเป้าหมายของพวกเขามากกว่าที่ตั้งเพราะไม่ได้สะท้อนพลวัตรของการพัฒนานวัตกรรมที่แท้จริงในยุคออนไลน์และศตวรรษที่ 21 นี้
  4. ดัชนีนี้แตกต่างออกไปจากหลายดัชนีที่มีการใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นจำนวนมาก ดังนั้นอีกประเด็นท้าทายคือการไม่ตกกับดักเรื่องการวัดในเชิงตัวเลขอย่างเดียวโดยเฉพาะต้องให้เวลากับการแสวงหาเรื่องราวที่โดดเด่นที่เกิดขึ้นหรือที่ดัชนีนี้เรียกว่าเพชรของเมืองหรือความภูมิใจของเมือง ซึ่งไม่ง่ายเหมือนการแจกแบบสอบถามแล้วนำมาคำนวณค่าทางสถิติ
  5. ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือดัชนีนี้ไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อวัดแล้วนำไปตัดสินว่าผ่านหรือไม่ผ่านหากแต่ประมวลผลในเชิงของวิวัฒนาการ โดยคาดหวังว่าพอวัดแล้วจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาต่อไป ดังนั้นการวางแผนยุทธศาสตร์หรือฉากทัศน์การพัฒนาศักยภาพของเมืองในการเป็นเมืองนวัตกรรมที่เข้มแข็งมากขึ้นหลังจากการวัดด้วยดัชนีนี้ จึงนับเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญแทบจะที่สุดโดยความท้าทายที่เรียกได้ว่ามากที่สุดนั้นคงต้องยกให้กับการสร้างความเชื่อมโยงทางนโยบายและความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวร่วมกันระหว่างภาคีต่างๆ ที่สำคัญ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมที่ทั้งทั่วถึงยั่งยืน และเชื่อมโยงที่มากยิ่งขึ้น