Policy Market EP.6 : Inclusive Haze Free Policy Design for Thailand

การสร้างประสบการณ์ “การออกแบบนโยบาย” เพื่อรับมือปัญหาหมอกควันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
กระบวนการในการเชื่อมความรู้ที่หลากหลายสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อรับมือปัญหาหมอกควันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Open Policy Forum ในลักษณะ Mini-publics ถูกใช้ในการสร้างกระบวนการในการเชื่อมความรู้ที่หลากหลายสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อรับมือปัญหาหมอกควันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในครั้งนี้ โดยเชื้อเชิญภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาและชุมชนเข้ามาร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ โดยทดลองนำร่องจากกรณีตัวแสดงต่างๆ ในเชียงใหม่ ซึ่งเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมาร่วม 10 ปีแล้ว ทั้งนี้แนวทางคือการนำทางเลือกทั้งหลายที่สังเคราะห์ขึ้นมานั้นมา “กองรวมกัน กางออก แล้ววางบนหน้าตัก” เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ถกแถลงหรือปรึกษาหารือกัน (deliberation) เพื่อขยับจาก “What” สู่ “Where”, “When”, “Why”, “Who” และ “How” ซึ่งข้อเสนอของงานวิจัยเอาจิ๊กซอว์เหล่านี้มาเหมารวมไม่ได้และไม่มีรายละเอียดพอจำเป็นต้องใช้มุมมองที่หลากหลายจากภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ที่ต่างกันที่จะต้องเอาเงื่อนไขที่อิงบริบท ค่านิยม หรือแม้แต่อุดมคติต่างๆ เข้ามาร่วมขบคิดหรือพิจารณาแต่ละทางเลือกไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ (feasibilities) เปรียบเทียบข้อได้เปรียบกับข้อจำกัด (trade-off) รวมถึง เกิดการเรียนรู้ทางนโยบาย (policy learning)
นอกจากนั้น Open Policy Forum โดยเฉพาะที่ออกแบบเป็น World café มีความสำคัญ เพราะจะสร้างบรรยากาศแบบเป็นทางการน้อยและจะทำให้การคิดนโยบายรับมือปัญหาหมอกควันร่วมกันนั้นวางอยู่บนฐานของการให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันที่มากขึ้น โดยฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ด้วยการอาศัยความรู้ที่หลากหลายผ่านการแลกเปลี่ยนในพื้นที่สานเสวนาที่สร้างสรรค์ที่ภาคส่วนต่างๆ สามารถมาเรียนรู้และวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างฉันท์มิตร (Critical friends) โดยพิจารณาทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติเทคโนโลยี มิติสังคมและวัฒนธรรม มิติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และมิติการเมืองและการจัดการจะเห็นได้ว่าจากการศึกษาวิจัยก่อนหน้า ทางเลือกต่างๆ ที่ถูกนำเสนอมานั้นยังมีลักษณะกระจัดกระจายหรือแตกเป็นเสี่ยงๆ ขาดการพิจารณาความเชื่อมร้อยกันของนโยบาย (policy coherence) และความเชื่อมโยงระหว่างทางเลือกที่เสนอกับช่องว่างเชิงนโยบายที่มีอยู่ (policy gaps)รวมไปถึงขาดการสร้างข้อเสนอเรื่องลำดับความสำคัญ (priorities) และตระกร้านโยบาย (policy packages/ policy series/ policy portfolios) ที่รวบรวมชุดทางเลือกต่างๆ ที่หนุนเสริมกัน
โดยมีการติดฉลากบ่งชี้ความเป็นไปได้ในมิติต่างๆ และด้านบวกด้านลบ (หรือข้อจำกัด) ที่มีอยู่เพื่อให้เป็นเสมือนสินค้านโยบายที่วางขายในตลาดนโยบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เลือกนำไปใช้ทั้งในภาพรวมและในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังขาดการสร้างข้อเสนอว่าด้วยกลไกสนับสนุน (supportive mechanisms) เพื่อให้สามารถมีแนวทางในการนำเอาตระกร้านโยบายไปขับเคลื่อนต่อให้เกิดผลได้ เช่น การขาดการออกแบบระบบการบริหารจัดการนโยบาย (governance design) ที่เชื่อมร้อยตัวแสดงจากทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและการขาดการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการนำเอานโยบายไปดำเนินการทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ช่องว่างเหล่านั้นควรถูกเติมเต็มผ่านการปรึกษาหารือ (Deliberative approach) โดยในกระบวนการนั้นต้องผสมผสานกันระหว่างมุมมองเชิงเหตุผล (Rational perspective) มุมมองเชิงวิพากษ์ (Critical perspective) และมุมมองเชิงตีความ (Interpretive perspective) โดยมีการพิจารณาทั้งเรื่องประสิทธิผล (Effectiveness) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ความพอเพียง (Adequacy) ความเป็นธรรม (Equity/ Fairness) การสนองตอบความต้องการ (Responsiveness) ความเหมาะสม (Appropriateness) ความมั่นคงปลอดภัย (Security) ความยั่งยืน (Sustainability) ความยืดหยุ่นต่อการปรับตัว (Resilience) ความชาญฉลาด (Smart) ความสอดรับกับหลักจริยธรรมและคุณค่าทางการเมือง (Ethics and political values) และความมีเสรีภาพ/ อิสระ/ ไม่ถูกบังคับ (Liberty/ Autonomy and freedom of choice)